ข่าวและบทความ

ต้นทุนสินค้า จัดประเภทอย่างไร แบบไม่สับสน
การจัดประเภทต้นทุนสินค้ามีหลายวิธี ซึ่งส่วนใหญ่นักบัญชีมักจะสับสนเกี่ยวกับการจัดประเภท ทำให้การคำนวณต้นทุนสินค้านั้นคลาดเคลื่อนและไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายที่แท้จริง
หนึ่งในวิธียอดฮิตของการจำแนกต้นทุนของสินค้าคงเหลือนั้น ได้แก่ การจำแนกต้นทุนตามความสัมพันธ์ต่องวดบัญชี ซึ่งจะแบ่งต้นทุนสินค้าออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
1. ต้นทุนผลิตภัณฑ์ (Product Cost)
ซึ่งเป็นต้นทุนที่เกิดจากการผลิตสินค้าโดยตรง ประกอบด้วยสามส่วนหลักๆ ได้แก่
- วัตถุดิบทางตรง (Direct Material) คือ วัสดุที่ใช้เริ่มต้นผลิตสินค้าซึ่งเป็นส่วนประกอบหลัก และวัดจำนวนส่วนประกอบในสินค้าสำเร็จรูปได้
- ค่าแรงงานทางตรง (Direct Labor) คือ แรงงานที่ทำการผลิตสินค้านั้น โดยตรงกับกระบวนการผลิตสินค้า สำเร็จรูปและสามารถวัดปริมาณชั่วโมงในการผลิตได้
- ค่าใช้จ่ายการผลิต (Overhead) คือ ต้นทุนอื่นที่ไม่ใช่ DM และ DL เป็นค่าใช้จ่ายในโรงงานทั้งหมด เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเสื่อมราคา ค่าบำรุงรักษาเครื่องจักร เป็นต้น
2. ต้นทุนตามช่วงเวลา (Period Cost)
ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเลย เป็นค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นในระหว่างงวด อาจจะเกิดเป็นประจำเพื่อการขายสินค้า หรือเพื่อการบริหารสำนักงาน ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่าย 2 ประเภทนี้
- ค่าใช้จ่ายในการขาย (Selling Expenses) คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้การสั่งซื้อของลูกค้าจนถึงการนำสินค้าสำเร็จรูปหรือบริการไปถึงมือลูกค้า เช่น ค่าโฆษณา ค่าใช้จ่ายการตลาด เป็นต้น
- ค่าใช้จ่ายในการบริหาร (Administrative Expenses) จัดเป็นค่าใช้จ่ายทั่วไปที่เกิดขึ้นในสำนักงานแยกต่างหากจากโรงงาน เช่น ค่าเช่าออฟฟิศสำนักงาน ค่าน้ำค่าไฟสำนักงาน เงินเดือนผู้บริหาร เป็นต้น
เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น เราลองมาดูเคสตัวอย่างกัน ว่าต้นทุนเหล่านี้ ควรแยกประเภทเป็นอะไรดีนะ
ตัวอย่าง
สมมติเรากำลังทำบัญชีให้บริษัท Thai CPD at Home จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อขาย
ทุกท่านคิดว่าต้นทุนเหล่านี้จำแนกเป็นต้นทุนผลิตภัณฑ์ (Product Cost) หรือ ต้นทุนช่วง (Period Cost) และหากเป็นต้นทุนผลิตภัณฑ์อย่าลืมแยกประเภทย่อยๆ 3 ประเภท คือ วัตถุดิบทางตรง (Direct Material) ค่าแรงงานทางตรง (Direct Labor) หรือค่าใช้จ่ายการผลิต (Overhead)
- ต้นทุนค่าผ้าสำหรับผลิตเสื้อ
- ค่าแรงงานคนเย็บผ้า
- เงินเดือนพนักงานขายหน้าร้าน
- ค่าเสื่อมราคา - อาคารโรงงาน
- ผลประโยชน์พนักงาน เช่น เงินสมทบประกันสังคม สวัสดิการต่างๆ
เฉลยคำตอบ
ใครมีคำตอบแล้ว ลองมาเช็คกับเฉลยไปทีละข้อนะคะว่าตรงกับที่ท่านเข้าใจไหม
1. ต้นทุนค่าผ้าสำหรับผลิตเสื้อ คือ ต้นทุนผลิตภัณฑ์ ( Product Cost ) ประเภทวัตถุดิบทางตรง (Direct Material) เนื่องจากหากไม่มีผ้าซึ่งเป็นวัตถุดิบ ก็ไม่สามารถผลิตเสื้อได้อย่างแน่นอน
2. ค่าแรงคนเย็บผ้า คือ ต้นทุนผลิตภัณฑ์ ( Product Cost ) ประเภทค่าแรงงานทางตรง (Direct Labor) กรณีที่เราจ่ายเงินค่าแรงคนงาน ซึ่งเป็นคนงานในสายการผลิตเสื้อโดยตรง ดังนั้นจึงสามารถจำแนกประเภทได้เป็นต้นทุนผลิตภัณฑ์ ( Product Cost ) และถ้าลองแบ่งให้ละเอียด Product Cost ตรงนี้ต้องเป็น ค่าแรงงานทางตรง แน่นอน
3. เงินเดือนพนักงานขายหน้าร้าน คือ ต้นทุนตามงวดเวลา (Period Cost )
ถ้าต้นทุนอะไรก็ตามที่ได้เกิดขึ้นหรือได้จ่ายไป เมื่อกระบวนการสินค้าถูกผลิตเสร็จแล้ว ต้นทุนเหล่านี้เราต้องรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในงวดทันที่ ต้นทุนประเภทนี้จัดเป็นต้นทุนตามงวดเวลา (Period Cost ) ประเภทค่าใช้จ่ายในการขาย ดังนั้น เงินเดือนพนักงานขายจะสังเกตว่ากระบวนการผลิตสินค้าเรียบร้อยแล้ว เอาของไปวางที่ร้านหน้าต้องรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายทันที สังเกตจากรูปด้านล่างจะพบว่าค่าใช้จ่ายนี้อยู่ด้านขวาสุดของแผนภูมิเลย ไม่เกี่ยวกับกับกระบวนการผลิตใด ๆ
4. ค่าเสื่อมราคา - อาคารโรงงาน จำแนกประเภทเป็น ต้นทุนผลิตภัณฑ์ ( Product Cost ) แบบค่าใช้จ่ายในการผลิต หรือ Overhead
ตัวนี้ต้องพิจารณาดี ๆ เพราะหลายท่านสับสน และนำต้นทุนนี้ไปรวมกับค่าใช้จ่ายในการบริหาร (Administrative Expenses) หากท่านลองสังเกตุดี ๆ จะพบว่า หากไม่มีอาคารโรงงาน การผลิตเสื้อก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การใช้งานอาคารโรงงานจึงอยู่ในกระบวนการผลิตเสื้ออย่างแน่นอน และค่าเสื่อมราคาที่เกิดขึ้นจะจัดเป็นต้นทุนผลิตภัณฑ์จำพวกค่าใช้จ่ายการผลิตแบบ Overhead นั่นเอง
5. ผลประโยชน์พนักงาน จำแนกได้ทั้ง ต้นทุนผลิตภัณฑ์ (Product Cost) และต้นทุนตามงวดเวลา (Period Cost)
ผลประโยชน์พนักงาน เช่น เงินสมทบประกันสังคม สวัสดิการต่าง ๆ ในความจริงแล้ว เราต้องดูตัวตั้งต้นว่าผลประโยชน์พนักงานนี้จ่ายให้ใคร หากว่าเราจ่ายให้คนงานในโรงงาน ก็แสดงว่าค่าใช่จ่ายที่เราสมทบเข้าไป จะรับรู้ตามตัวตั้งต้นนั่นก็คือ ต้นทุนผลิตภัณฑ์ (Product Cost) เพราะว่าค่าแรงงานคนงานถือเป็นต้นทุนผลิตภัณฑ์ (Product Cost) ดังนั้นตัวผลประโยชน์ที่เราสมทบเข้าไปก็ต้องจัดเป็นประเภทเดียวกัน
แต่ถ้าค่าใช้จ่ายนี้สมทบให้กับพนักงานขายหน้าร้านหรือพนักกงานบัญชี ผู้บริหาร ต้นทุนตัวตั้งเรารับรู้เป็นต้นทุนตามงวดเวลา (Period Cost) ดังนั้นแสดงรายจ่ายนี้ที่เราเพิ่มเข้าไปก็ต้องรับรู้เป็นต้นทุนตามงวดเวลา (Period Cost) เช่นเดียวกับตัวตั้ง
ลองดูแผนภาพด้านล่างจะชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า เรามีตัวเลือกในการจัดประเภทสองแบบตามที่วงกลมไว้
พอจะมองเห็นภาพกันมากขึ้นไหมคะ สำหรับจำแนกต้นทุนสินค้าตามผลิตภัณฑ์ ( Product Cost ) และตามช่วงเวลา ( Period Cost ) อาจจะมีความยากเล็กน้อย แต่หากเรามองไปกระบวนการผลิต และรายการที่เป็นตัวตั้งต้น ก็จะช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้นค่ะ ดังนั้นอย่าลืมนำไปใช้กันให้ถูกวิธีนะคะ
ลองไปศึกษาเพิ่มเติมกันได้ที่คอร์ส สินค้าคงเหลือกับประเด็นที่มักเข้าใจผิด
ไม่อยากพลาดบทความดีๆ ด้านบัญชี-ภาษี และโปรโมชั่นพิเศษ กดสมัครรับข่าวสารที่นี่