ข่าวและบทความ

ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชี
เริ่มต้นปีใหม่ หลายท่านคงตั้งใจที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ สำหรับปีนี้กันใช่มั้ยคะ และหนึ่งในปณิธานที่หลายท่านตั้งใจไว้ว่าจะทำ อาจจะเป็นการเริ่มต้นงานใหม่ในสายผู้ทำบัญชี
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีลูกค้าหลายท่านสอบถามเข้ามาทางทีมงาน Thai CPD at Home เกี่ยวกับ ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีจะต้องทำอย่างไรบ้าง?
บางท่านเข้าใจผิดว่าเพียงแค่สมัครงานในตำแหน่งผู้ทำบัญชีก็ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ทำบัญชีแล้ว หรือแค่เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีก็จัดว่าเป็นผู้ทำบัญชีแล้ว ซึ่งในความเป็นจริง ขั้นตอนการที่จะได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ทำบัญชีได้นั้น มีมากกว่านั้นนะคะ
บทความนี้ ทางทีมงาน Thai CPD at Home จึงสรุปมาให้ครบเกี่ยวกับขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผู้ทำบัญชีว่ามีกี่ขั้นตอนและแต่ละขั้นตอนต้องทำอย่างไรบ้างนะคะ
ทำความเข้าใจกันก่อน
การที่จะประกอบวิชาชีพเป็นผู้ทำบัญชีนั้น เราต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อนี้ให้ครบ คือ
1. ต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีหรือขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชีตามพระราชบัญญัติ วิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ และ
2. แจ้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการทําบัญชีทางระบบ Online ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่เรียกว่า e-Accountant พร้อมด้วยสําเนาหลักฐานภายในสามสิบวันนับแต่วันเริ่มทำบัญชี
ดังนั้น คำถามที่ว่าหากท่านทำรายการข้างต้น เฉพาะข้อ 1 หรือ 2 เท่านั้น แล้วจะถือว่าเป็นผู้ทำบัญชีอย่างสมบูรณ์หรือไม่นั่น คำตอบ ก็คือ คำว่า “ไม่” นะคะ เพราะประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กําหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทําบัญชี พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งสองข้อค่ะ
เมื่อทำความเข้าใจตรงกันในเบื้องต้นแล้ว ถัดมาเรามาดูวิธีการง่ายๆ ในการทำตามเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อกันค่ะ
ขั้นแรก สมัครเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพบัญชี หรือสมัครเป็นผู้ขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชี
ขั้นตอนนี้ จะมี Option ให้ท่านเลือกได้ว่าคุณจะสมัครเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีก็ได้ หรือ สมัครเป็นผู้ขึ้นทะเบียนผู้ทำบัญชีค่ะ
จริงๆ แล้วค่าธรรมเนียมที่ท่านต้องจ่ายต่อปี คือ 500 บาทเท่ากัน แต่หากเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี ท่านจะมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากกว่าการขึ้นทะเบียนเฉยๆ ลองคลิกดูรายละเอียดที่นี่
ดังนั้น ผู้ทำบัญชีส่วนใหญ่จะเลือกการสมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีแบบสามัญมากว่าการสมัครเป็นผู้ขึ้นทะเบียนทำบัญชีค่ะ
ส่วนขั้นตอนการสมัครสมาชิกนั้น เดี๋ยวนี้ท่านสามารถสมัครทางระบบออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย ลองคลิกดูบทความนี้นะคะ สำหรับขั้นตอนการสมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีออนไลน์ภายใน 5 นาที
ขั้นที่ 2 แจ้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการทําบัญชีทางระบบ E-Accountant ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ขั้นตอนนี้ ท่านสามารถทำได้ผ่านระบบออนไลน์เช่นกันค่ะ แต่ทว่าต้องทำผ่านเว็บไซด์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้านั่นเอง ไม่ใช่เว็บไซด์ของสภาวิชาชีพบัญชีนะคะ
ขั้นนี้ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการแจ้งรายละเอียดการทำบัญชี หมายความว่า ท่านต้องมีรายชื่อลูกค้าที่ท่านจะรับทำบัญชีอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสำหรับบางกิจการมีพนักงานในแผนกบัญชีหลายท่าน แต่ไม่ได้แปลว่าทุกท่านจะต้องแจ้งชื่อนะคะ สำหรับกิจการหนึ่ง ๆ ผู้ที่ต้องแจ้งรายละเอียดรับทำบัญชีนั้นมีได้ท่านเดียว ซึ่งแล้วแต่ว่าจะตกลงกันอย่างไรค่ะ
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เดี๋ยวเราไปศึกษาขั้นตอนการแจ้งรายละเอียดพร้อมๆ กันเลยนะคะ
1. เข้าสู่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th เลือกเมนู บริการออนไลน์ > ผู้ทำบัญชี (e-Accountant) ดังภาพ
2. จากนั้นหน้าจอจะแสดงผลให้เลือกที่เมนู > ระบบงานผู้ทำบัญชี (e-Accountant)
3. อ่านรายละเอียดคำเตือนการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชี (CPD) ให้เรียบร้อยจากนั้นให้กดยอมรับ
4. อ่านรายละเอียดระบบงานผู้ทำบัญชีที่ปรากฏที่หน้าจอจากนั้นกด ยอมรับ
5. กรอกรหัสบัตรประชาชน 13 หลัก เลือกเมนู > เข้าสู่ระบบ
6. จากนั้นเลือกเมนู > แจ้งรายละเอียดการทำบัญชีครั้งแรก (ส.บช.5)
7. กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ในเมนูต่างๆ ด้านซ้ายมือ ดังนี้
• ข้อมูลพื้นฐาน (ต้องกรอก Email และตั้งรหัสผ่าน เพื่อการเข้าระบบครั้งถัดไป)
• ที่อยู่
• วุฒิการศึกษา
• การเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพ
• ฐานะผู้ทำบัญชี
• ธุรกิจที่รับทำบัญชี (แจ้งชื่อ ภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มทำบัญชี)
• พร้อมแนบหลักฐานการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี
8. เมื่อได้แนบไฟล์เอกสารหลักฐานครบถ้วนทุกรายการแล้วคลิกเลือกปุ่มส่งยื่นขอเป็นสมาชิก ระบบจะแสดงสถานะว่ารอการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งท่านสามารถตรวจสอบการอนุมัติได้ทางอีเมล์ของท่าน
เมื่อได้รับอีเมล์จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้วก็เป็นอันว่าท่านเป็นผู้ทำบัญชีอย่างสมบูรณ์แล้วค่ะ และหากในระหว่างปีมีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจที่ท่านรับทำบัญชีล่ะก็อย่าลืม Log-in เข้ามาในระบบและแจ้งการเปลี่ยนแปลงให้ครบถ้วนภายใน 30 วันด้วยนะคะ
เป็นยังไงบ้างคะ ไม่ยากเลยใช่มั้ยสำหรับขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชี หากท่านใดขึ้นทะเบียนสมบูรณ์แล้ว บอกได้เลยว่าโอกาสในการรับงานบัญชีไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกเวลาก็จะมีมากขึ้นและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นทีเดียวเลยค่ะ
ที่สำคัญเมื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีแล้ว อย่าลืมอบรมเพื่อเก็บชั่วโมงพัฒนาความรู้ (CPD) 12 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับการบัญชีไม่น้อยกว่าครึ่ง และยื่นหลักฐานการอบรม CPD ให้ครบภายในวันที่ 30 มกราคมของทุกปีด้วยนะคะ
และหากท่านใดยังไม่รู้ว่าจะอบรมคอร์สไหนดี ลองเลือกดูคอร์ส CPD ออนไลน์ของเราได้ที่นี่เลยค่ะ
สุดท้ายนี้ หวังว่าทุกท่านคงได้รับประโยชน์และสามารถต่อยอดวิชาชีพได้เพิ่มเติมจากบทความนี้นะคะ พวกเราชาว Thai CPD at Home ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านสำหรับผู้ทำบัญชีมือใหม่ทุกคนค่ะ
ไม่อยากพลาดบทความดีๆ ด้านบัญชี-ภาษี และโปรโมชั่นพิเศษ กดสมัครรับข่าวสารที่นี่
ขอบคุณที่มา:
source: www.thaicpdathome.com